ข่าวสาร

ข่าว กิจกรรม และหลักสูตรอบรม ประกาศสำคัญที่ทุกท่านสนใจ

EU เพิ่มรายชื่อสารเคมีอันตรายและมีความน่ากังวลสูง 4 รายการ

20 Aug 2019
 820

EU เพิ่มรายชื่อสารเคมีอันตรายและมีความน่ากังวลสูง 4 รายการ

                    กรมการค้าต่างประเทศ เผย EU ประกาศเพิ่มรายชื่อสารเคมีอันตรายและมีความน่ากังวลสูง 4 รายการ ซึ่งมีผลตั้งแต่ 16 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา ย้ำผู้ผลิต/นำเข้าจะต้องแจ้งต่อ ECHA ภายใน 6 เดือน หากผู้ผลิต/ผู้นำเข้าที่มีสารนี้มากกว่า 1 ตันต่อปี และสารที่ปรากฏในผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 0.1% โดยน้ำหนัก

                    นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หน่วยงานจัดการเคมีภัณฑ์ของสหภาพยุโรป European Chemicals Agency (ECHA) ประกาศปรับเพิ่มรายชื่อสารเคมี จำนวน 4 รายการ ในบัญชีสารเคมีอันตรายและมีความน่ากังวลสูง (Substances of Very High Concerns : SVHCs) หรือ Candidate list ดังนี้

                              1. สาร 2-methoxyethyl acetate เช่น ใช้เป็นสารทำละลายใน Nitrocellulose สารเคลือบเงา ฟิล์ม และใช้ในหมึกซิลค์สกรีน

                              2. สาร Tris(4-nonylphenyl, branched and linear) phosphite (TNPP) with ≥ 0.1% w/w of  4-nonylphenol, branched and linear (4-NP) เช่น ใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)

                              3. สาร 2,3,3,3-tetrafluoro-2-(heptafluoropropoxy)propionic acid, its salts and its acyl halides (covering any of their individual isomers and combinations thereof) เช่น ใช้ในการผลิต Fluorinated polymers.

                              4. สาร 4-tert-butylphenol เช่น ใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเคลือบ โพลิเมอร์ กาว ยาแนว เป็นต้น

                    เนื่องจากสารดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และมีผลต่อการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ (Carcinogenic, Mutagenic and Reprotoxic : CMR)  สารพิษตกค้างยาวนาน (Persistent, Bioaccumulative and Toxic : PBT) และสารตกค้างระยะเวลายาวนานมากและสะสมในสิ่งมีชีวิต (Very Persistent and Very Bioaccumulative : vPvB)

                    ทั้งนี้ การเพิ่มบัญชีสารเคมีข้างต้น มีผลตั้งแต่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าวจะต้องแจ้งต่อ ECHA ภายใน 6 เดือน ในกรณี 2 กรณี คือ (1) ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าที่มีสารนี้มากกว่า 1 ตันต่อปี และ (2) สารที่ปรากฏในผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 0.1 % โดยน้ำหนัก ซึ่งผู้ขายจะต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอแก่ผู้บริโภคเพื่อที่จะสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างปลอดภัย

นายอดุลย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถิติการส่งออก ไทยมีมูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปยังสหภาพยุโรป (ปี 2559-2561) จำนวน 7,741.6 13,405.7 และ 9,527.1 ล้านบาทตามลำดับ และในปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปสหภาพยุโรปมูลค่า 3,445.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 36.03 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

                    เพื่อให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดและเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันและปฏิบัติตามมาตรการนำเข้าสินค้าสารเคมีของสหภาพยุโรปได้อย่างถูกต้อง ผู้ประกอบการ/ส่งออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลข้างต้นเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://echa.europa.eu/web/ guescandidate-list-table หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารสินค้าข้อตกลงและมาตรการการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร 02-547 4734 หรือสายด่วน 1385

ที่มา : www.dft.go.th

แสดงความคิดเห็น

กรุณาคลิก เข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมัครสมาชิกเว็บไซต์ เพื่อการใช้งานที่ดีเยี่ยม

สมาชิกเว็บไซต์สามารถใช้งานฟีเจอร์ของเว็บไซต์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสมัครเรียนกับ iTi การส่งสมัครงาน การใช้ระบบพิกัด/คำวินิจฉัย การรับช่าวสาร อ่านเพิ่มเติม